โครงการอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชน
วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๖
ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ม. ๖ บ้านจืองา ต.บางปอ อ.เมืองนราธิวาส
โลกาวิวัฒน์” สร้างระบบทุนนิยมโดยใช้กลไกลตลาด เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเน้นเศรษฐกิจเป็นตัววัดปัจจัยของการเจริญเติบโต และการแสดงว่าประเทศพัฒนาจะใช้รายได้ประชาชาติต่อหัวเป็นตัวตัดสิน
ดังนั้นจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าการแข่งขัน การชิงไหวชิงพริบ การแกร่งแย่ง เพื่อให้นำมาซึ่งความร่ำรวยของประเทศตน สิ่งที่เป็นผลพวงตามมาก็คือ ทรัพยากรของโลกถูกทำลายโดยน้ำมือมนุษย์ เพื่อที่จะสนองความต้องการ ความยิ่งใหญ่ จนเกิดภาวะเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจ และเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะปัญหาสภาพแวดล้อม เช่น การเกิดมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การเกิดภัยธรรมชาติ เนื่องจากมนุษย์บุกรุกทำลายป่า ปัญหาสังคม ยาเสพติด อาชญากรรม และตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บอีกมากมาย แม้แต่ประเทศไทยเองก็ได้รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ในการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การแต่งกาย ความเป็นอยู่ บนพื้นฐานของความฟุ่มเฟือยหรูหรานิยมวัตถุจนเกิดเป็นวัฒนธรรมบริโภคนิยม วัตถุนิยมส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม จนสภาพสังคมไทยตกอยู่ในสภาพเลวร้าย วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามที่บรรพบุรุษสั่งสมไว้แทบจะไม่หลงเหลือให้ชื่นชม คนไทยเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว สังคมที่มีมิตรไมตรีความเอื้ออาทรต่อกันเหลือน้อยเต็มทน เพราะต้องแข่งขัน แกร่งแย่งเพื่อความอยู่รอด รัฐบาลเองก็บริหารประเทศโดยใช้ระบบทุนนิยม มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การลงทุนจากต่างประเทศใช้เงินมากมายในการที่จะต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นการก่อหนี้จำนวนมหาศาล ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย เพราะต้องนำไปในการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคเกษตรที่ถือเป็นหัวใจและสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่บรรพกาลน้อยมาก ประเทศจึงมีสภาพเศรษฐกิจที่คลอนแคลนไม่มั่นคง ไม่สามารถยืนบนขาตัวเองได้ เพราะต้องพึ่งพาต่างประเทศ ถ้าคนไทยยังคงอยู่ในสภาพนี้ต่อไปก็คงจะถึงเวลาที่ประเทศจะต้องประสบภัยความ “ล่มสลาย”
ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้เล็งเห็นถึงสิ่งเหล่านี้ จึงได้สร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมา คือ “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้ประเทศรอดพ้นและยื่นหยัดภายใต้กระแสโลกาวิวัฒน์ และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง เพื่อเป็นหนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ถึงแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ไม่ว่าจะในระดับครอบครัว ชุมชน หรือรัฐในการปฏิบัติงานหรือบริหารพัฒนาประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอประมาณ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท มีเหตุผล และสร้างระบบภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบต่าง ๆ อันอาจจะเกิดขึ้นจากภายนอกและภายในอย่างรอบคอบ ในขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนให้มีความสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และความรอบรู้ที่เหมาะสม การดำเนินชีวิตควรใช้ความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี การดำรงชีวิตและปฏิบัติตนมุ่งเน้นการอยู่รอดปลอดภัย และวิกฤต สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ ดังนี้
- ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเช่น การผลิตและการบริโภคอยู่ในระดับพอประมาณ
- ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
- การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
การดำเนินกิจการต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องมีความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
- ความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
- คุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียง ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต จึงกล่าวได้ว่าการนำปรัชญาของเศรษฐกิจเพียงพอมาปฏิบัติ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม ความรู้ และเทคโนโลยี เป็นแนวทางในการพัฒนาให้สามารถพึ่งตนเองในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน ลดความเสี่ยงเกี่ยวกับธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ โดยอาศัยความพอประมาณและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียร และความอดทน สติ และปัญญา การช่วยเหลือเกื้อกูล และความสามัคคี โดยภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับหลักวิชาการ ใช้การพิจารณาวางแผนและขั้นตอนการปฏิบัติอย่างรอบคอบ โดยตระหนักในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต ใช้สติปัญญาและความเพียรในการดำเนินชีวิต
หลักสำคัญของความพอดีมี 5 ประการ คือ
ความพอดีด้านจิตใจ : ต้องเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ มีจิตสำนึกที่ดี เอื้ออาทร ประณีประนอม นึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
ความพอดีด้านสังคม : ต้องมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างความเข็มแข็งให้แก่ชุมชน รู้จักผนึกกำลัง และที่สำคัญมีกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากฐานรากที่มั่นคง และแข็งแรง
ความพอดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : รู้จักใช้และจัดการอย่างฉลาดและรอบคอบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด และที่สำคัญใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศให้มั่นคงอยู่เป็นขั้นเป็นตอนไป
ความพอดีด้านเทคโนโลยี : รู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับความต้องการ และควรพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาชาวบ้านของเราเองและสอดคล้องเป็นประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมของเราเอง
ความพอดีด้านเศรษฐกิจ : เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ดำรงชีวิตอย่างพอควร พออยู่ พอกิน สมควรตามอัตตภาพ และฐานะของตน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น